อักษร
ตลาด100ปี
ย้อนเวลา... ค้นหาความทรงจำที่อาจลืมเลือน ภาพอดีตที่ยังคงอยู่ แม้เวลาจะผ่านไปแสนนาน ตลาดเก่าที่มีชีวิต และคอยเล่าเรื่องราวของวันเวลาที่กำลังจะจางหายไปจากความรู้สึก และความทรงจำให้กับผู้คนที่ผ่านมายังตลาดแห่งนี้ ตัวอำเภอยังเป็นตลาดเก่าที่สร้างด้วยไม้เรียงติดกัน อยู่ริมฝังตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ภาพวิถีีชีวิตของผู้คนในชุมชน, สถาปัตยกรรมโบราณ เชิงชายไม้แกะสลัก
อาคารพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์ จีนารักษ์ ร้านขายยาจีน-ไทยโบราณ-ร้านกาแฟโบราณ-ร้านถ่ายรูปโบราณ ยังคงมีสภาพและรูปแบบเดิมเหมาะแก่การอนุรักษ์และรักษาให้เป็นบันทึกของชีวิตริมแม่น้ำท่าจีน อีกแห่งหนึ่ง และยังเป็นแหล่งรวมสินค้าโดยเฉพาะขนมไทยโบราณ กาแฟสด และอาหารสด จำพวกปลาแม่น้ำและพืชผักจากชาวบ้าน
ในอดีต..บ้านสามชุกได้ชื่อว่าเป็นท่าเรือทางการค้าที่สำคัญ และเป็นศูนย์กลางของจังหวัด ผู้ที่เดินทางจากตัวเมืองไปอำเภออื่นๆที่เลยออกไป จำเป็นต้องหยุดพักที่สามชุก เพราะได้เวลาค่ำพอดี นอกจากนั้นยังเป็นที่ที่พวกกระเหรี่ยงนำของจากป่า บรรทุกเกวียนมาขายให้พ่อค้าทางเรือ และซื้อของจำเป็นกลับไป
ในสมัยหนึ่งบ้านสามชุกขึ้นกับอำเภอเดิมบางนางบวช เมื่อปี พ.ศ. 2437 ต่อมาปี พ.ศ. 2454 จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งบริเวณหมู่บ้านสำเพ็ง และเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอสามชุกเมื่อปี พ.ศ. 2457
มีเนื้อที่ 362 ตารางกิโลเมตร มี 7 ตำบล 68 หมู่บ้าน
พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์จีนารักษ์
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2547 ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของ ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ซึ่งสัมพันธ์กับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ของเมืองสามชุก ตลาดสามชุก สังคม และสภาพวิถีชีวิตของผู้คนสามชุก มีการแสดงประวัติเจ้าของอาคารพิพิธภัณฑ์ คือ ท่านขุนจำนงจีนารักษ์ และกล่าวถึงโครงการสามชุกเมืองน่าอยู่ มีการจัดแสดงผลงานศิลปะผ่านภาพวาด และลายเส้นเกี่ยวกับสามชุกของนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง อาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้เดิมเป็นบ้านของ ขุนจำนง จีนารักษ์ ตั้งอยู่ในตลาดสามชุก ซอย 2 ลักษณะเป็นอาคารไม้สามชั้น สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ. ศ. 2459อายุกว่า 90 ปี มาแล้ว นางเคี่ยวยี่ จีนารักษ์ ทายาทคนปัจจุบัน ได้อนุญาตให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก ปรับปรุงบ้านจัดทำพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ของท้องถิ่น และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน
อำเภอสามชุก มีประวัติจารึกว่าเคยเป็น ดินแดนที่มีความยิ่งใหญ่ในอดีต ในฐานะที่เป็นเสมือนเมืองท่าที่สำคัญของ จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ได้เคยเป็นแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่มาแต่โบราณ
ปัจจุบัน... ด้วยความร่วมมือกันของชุมชน ทำให้ตลาดสามชุก เป็นตลาดโบราณที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายๆตลาดที่มีอายุเก่าแก่ ได้กลับมาค้าขายกันเช่นอดีต โดยปรับปรุงดูแล และยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมเมื่อนับร้อยปี จนกระทั้งปี พ.ศ. 2552 ชุมชนสามชุกตลาดร้อยปี ได้รับ รางวัลอนุรักษ์ดี จากยูเนสโก ซึ่งเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่า เป็นความภาคภูมิใจของชาวสามชุก ชาวสุพรรณ และชาวไทยทุกคน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)